Chapter 2 Complex of Hué Monuments : IMPERIAL CITY ,HUE


Chapter 2
ศิลปกรรมในอาณาจักรเวียด : พระราชวังเมืองเว้ (IMPERIAL CITY ,HUE)

          สวัสดีผู้อ่านที่น่ารักทุกๆท่านนะคะ เนื่องจากคราวที่แล้วผู้เขียนได้พาผู้อ่านทุกๆท่านย้อนรอยอดีตไปยังสมัยศตวรรษที่ 4 เพื่อชมศิลปะจามโบราณ ครั้งนี้ผู้เขียนจะพาทุกๆท่านนั่งไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลาไปชมศิลปะเวียดนาม หลังจากที่อาณาจักรจามปาล่มสลายลง บทความที่สองนี้จะมีการนำเสนอ พระราชวังเมืองเว้ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเว้ จังหวัดเถื่อเทียนเว้ (Thua Thien Hue) ประเทศเวียดนามค่ะ 
         ก่อนที่เราจะไปชมพระราชวังเมืองเว้ เรามาทำความรู้จักกับประวัติของเมืองเว้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังแห่งนี้กันก่อนนะคะ
          


          เมืองเว้ (Hue) เป็นเมืองหลักของจังหวัดเถื่อเทียนเว้ (Thua Thien Hue) ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม เคยเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ที่สำคัญในสมัยราชวงศ์เหวียน (หรือที่คนไทยออกเสียงว่าเหงียน) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของราชวงศ์เวียดนาม ในช่วงปี 2345 - 2488  มี แม่น้ำหอม” (Song Huong-Perfume River) ไหลผ่านกลางเมือง 
          เดิมทีเมืองเว้เป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ใจกลางประเทศเวียดนาม ก่อนจะเติบโตพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเมืองหลวง ก่อตั้งโดยราชวงศ์เหวียน” หลังจากอาณาจักรจามปาล่มสลายลง โดยมีจักรพรรดิองค์แรกคือ จักรพรรดิยาลอง” เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหวียน โดยตั้งเมืองเว้เป็นเมืองหลวง และเนื่องจากการได้รับอิทธิพลจากจีน จึงทำให้หมู่โบราณสถานในเมืองเว้นั้น มีความคล้ายคลึงกับพระราชวังและโบราณสถานของจีน เช่น ป้อมปราการ พระราชวัง และสุสานจักรพรรดินั่นเองค่ะ
          ในตอนนั้น เมืองเว้เป็นเมืองหลวงของเวียดนามอยู่ 143 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2345 - 2488) ก่อนที่เวียดนามจะตกเป็นเมืองขึ้นอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส
          และด้วยความที่ร่องรอยอารยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์แต่เก่าก่อนของสถานที่แห่งนี้ที่ยังคงอยู่คู่ไปกับวิถีร่วมสมัย ทำให้หมู่โบราณสถานเมืองเว้ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2536



          คราวนี้ ถึงเวลามาทัวร์ไฮไลต์ของบทความนี้กันแล้วนะคะ นั่นก็คือพระราชวังเมืองเว้
          พระราชวังแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1804 ในสมัยของพระเจ้ายาลอง ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหวียน ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม โดยเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์ตั้งใจที่จะหาที่ทำเลตามหลักของฮวงจุ้ยที่ดี เพื่อสร้างพระราชวังของราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นใหม่ และเป็นที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์เหวียนแห่งเว้ทั้งหมด 13 พระองค์
           ในตอนที่ถูกฝรั่งเศสเผาในปี พ.ศ. 2488 ทำให้ที่นี่กลายเป็นวังร้าง และต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ก็ถูกสหรัฐทิ้งระเบิด เนื่องจากเป็นที่ซ่องสุมของคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งองค์การยูเนสโกได้เข้ามาบูรณะ และขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2536
          พระราชวังเมืองเว้ มีพื้นที่กว่า 5.2 ตารางกิโลเมตร และมีกำแพงสร้างล้อมรอบถึง 3 ชั้น ตัวของพระราชวังจะล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองที่มีความยาว 2X2 กิโลเมตร นอกกำแพงเมืองจะมีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งผันน้ำมาจาก แม่น้ำหอม” ที่เป็นแม่น้ำสำคัญในเมืองเว้ และการวางอาคารต่างๆภายในพระราชวังแห่งนี้ ทั้งการวางผัง สี สัญลักษณ์ รวมถึงตัวอักษรนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชวังกู้กงซึ่งเป็นพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งของจีนนั่นเองค่ะ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ พระราชวังเว้จะหันไปทางทิศตะวันออก ในขณะที่พระราชวังของจีนนั้นจะหันไปทางทิศใต้ค่ะ
          
ที่มา : https://1th.me/z8g3

          ถ้าหากไล่เรียงกันไปในแต่ละชั้นของป้อมปราการก็จะเห็นว่า ป้อมปราการชั้นที่ 1 คือ ป้อมปราการเมืองหลวงเว้ (Kinh Thanh Hue) กำแพงด้านนอกสุด ที่สร้างด้วยหิน อิฐ และดิน สูง 8 เมตร หนา 20 เมตร ยาว 10 กิโลเมตร มีทางเข้า 10 ทาง และมีป้อมระวังภัย 24 ป้อม ล้อมรอบด้วยคูน้ำอีกหนึ่งชั้น ตรงกำแพงด้านใต้ที่หันหน้าเห็นแม่น้ำคือหอธงขนาดใหญ่ สูงเด่น มองเห็นได้จากทุกมุมของเมืองเลยค่ะ


          ป้อมปราการชั้นที่ 2 คือ ป้อมปราการหลวง (Hoang Thanh) สูง 6 เมตร สำหรับป้องกันพื้นที่ขนาดเล็กกว่า ล้อมรอบพระราชฐาน วัง วัด และอุทยาน ประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศตกแต่งอย่างงดงาม ด้านบนประตูมีหอคอยห้าปักษาวายุภักษ์ หลังคาตกแต่งด้วยกระเบื้องสีสันสดใส ตรงกลางใช้สีเหลือง ด้านข้างใช้สีเขียว เคยถูกใช้เป็นที่ประทับของจักรพรรดิเมื่อเสด็จมาประกอบพิธีกรรมต่างๆในอดีตที่ประตูทางทิศใต้ ปัจจุบันประตูเมืองทั้ง 4 ประตูได้เปิดให้ทุกคนสัญจรได้ ต่างจากในอดีตที่เป็นทางเข้าออกสำหรับกษัตริย์เท่านั้น ประตูนี้จะเปิดตรงสู่ตำหนักไทฮวา ซึ่งเป็นตำหนักที่ถือว่าเป็นจุดที่ไม่ควรพลาดเลยค่ะ เพราะที่นี่เป็นตำหนักที่สำคัญในพระราชวัง เป็นท้องพระโรงที่กษัตริย์เวียดนามออกว่าราชการ ต้อนรับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ต้อนรับนักการทูตจากต่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นที่จัดงานฉลองสำคัญต่างๆ ภายนอกของตำหนักไทฮวา มีกระเบื้องหลังคาสีเหลืองและลวดลายมังกรที่สงวนไว้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น ส่วนภายในเป็นโถงกว้างที่ทำจากไม้ทั้งหลัง มีเพียงบัลลังก์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ โดยในอดีตจะมีจอหงวนที่เก่งที่สุดเพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ยืนอยู่รอบบัลลังก์นี้
        

          
          ป้อมปราการชั้นที่ 3 คือ ป้อมปราการต้องห้าม (Tu Cam Thanh) ภายในกำแพงเป็นที่ประทับของกษัตริย์ทั้ง 13 พระองค์ ในราชวงศ์เหวียนและครอบครัวค่ะ ซึ่งกำแพงชั้นนี้จะมีประตูเข้าออก 7 ประตู ภายในก็จะมีสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันถึง 50 หลัง เช่น วังส่วนตัวของกษัตริย์ ที่พักของพระมเหสี ที่พักของสนม ห้องมหรสพ ห้องครัวสำหรับปรุงพระกระยาหารของกษัตริย์โดยเฉพาะ ห้องอ่านหนังสือ และสวนดอกไม้  
          
ที่มา : https://1th.me/WQ40


ที่มา : https://1th.me/WQ40


          พระราชวังเมืองเว้” นั้นแสดงถึงทั้งความรุ่งเรืองของระบอบกษัตริย์ อิทธิพลอันแกร่งกล้าของจีนที่มีอิทธิพลต่อสถานที่แห่งนี้ในตอนนั้น ทั้งลวดลายและการออกแบบเหมือนกันกับพระราชวังในจีนมากเลยใช่ไหมล่ะคะ เพียงแต่ว่าเล็กกว่า นั่นก็เพราะว่าอิทธิพลที่ได้รับจากจีนทำให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้มีความคล้ายคลึงกับพระราชวังของจีนอย่างมากเลยค่ะ แต่นั่นก็ยังมีเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้พระราชวังแห่งนี้มีความแตกต่างจากพระราชวังต้องห้ามในจีน โดยรวมของพระราชวังแห่งนี้ยังคงให้ความรู้สึกว่าแม้เวลาที่ผ่านไปเป็นร้อยๆปีนั้น ก็มิอาจทำลายความงามและคุณค่าความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ได้เลย 
          
          สำหรับบทความนี้ คงต้องจบลงเพียงเท่านี้แล้วนะคะ สวัสดีค่ะ :)



อ้างอิง
       ปิ่น บุตรี. (2558). ตื่นตาเวียดนาม”...งดงามเมืองเว้มรดกโลกมีชีวิต งามวิจิตรสุสานมหัศจรรย์/ปิ่น บุตรี (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2562. จาก
       โพสต์ทูเดย์. (2557). พระราชวังเว้ อาณาจักรต้องห้ามแห่งเวียดนาม (ออนไลน์). ค้นเมื่อ
24 สิงหาคม 2562. จาก
       อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. (ม.ป.ป.). พระราชวังเมืองเว้ (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2562. จาก
       Manasya. (2561). กว่าจะเป็นพระราชวังเว้ (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2562. จาก
       Webmaster. (2018). พระราชวังเว้ จังหวัดเถื่อเทียน เว้ ประเทศเวียดนาม (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2562. จาก

          

Comments