Chapter 4 Guardians of the directions : Vaishravana


Chapter 4
เทพประจำทิศ : ท้าวกุเวร (VAISHRAVANA)

          สวัสดีค่ะผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน บทความในครั้งนี้ที่ผู้เขียนจะลง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่น่าสนใจหรือสถานที่ท่องเที่ยวในเวียดนามแต่อย่างใดนะคะ แต่ครั้งนี้ ผู้เขียนจะมาเสนอเรื่องราวของเทพเจ้าประจำทิศค่ะ ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอท้าวกุเวร จอมยักษ์ผู้รักษาโลกด้านทิศอุดร หรือที่เรียกว่าเทพประจำทิศเหนือค่ะ 


ที่มา : https://bit.ly/2mufJMP

          ท้าวกุเวร ในศาสนาฮินดู หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ "ท้าวเวสสุวัณ" หรืออีกนามหนึ่งว่า "พระไพศรพณ์ [ไพ-สบ]" เป็นเทพประจำทิศอุดร หรือทิศเหนือ ตามตำนานคือเป็น 1 ใน 4 ผู้ดูแลเขาพระสุเมรุ เรียกว่า "ท้าวจตุโลกบาลคุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ เป็นใหญ่และอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ประทับ ณ โลกบาลทิศเหนือ ทั้งยังเป็นผู้ที่ปกครองเหล่ายักษ์ รากษส คุหยัก กินนร กินนรี 
          พจนานุกรมแปล ไทย - ไทยของอ.เปลื้อง ณ นคร อธิบายว่า พระไพศรพณ์ [ไพ-สบ] (สก. ไวศฺรวรฺณ) น. ท้าวกุเวร คือ ท้าวเวสวัณ ผู้เป็นโลกบาลประจำทิศอุดร และเป็นพระเจ้าแห่งทรัพย์

ที่มา https://bit.ly/2lYoLkR


             ท้าวกุเวรเป็นยักษ์มี 4 กร 3 ขา สันฐานสูง 200 เส้น มีฟัน 8 ซี่ ผิวขาว สวมอาภรณ์อันงดงามทรงมงกุฏยอดน้ำเต้าไว้บนพระเศียร ถือกระบองหรือคฑาเป็นอาวุธ มีม้าสีขาวนวลเป็นพาหนะ มีมเหสีเป็นยักษิณีนามว่า จารวี มีบุตรชาย ชื่อ วรรณกวีเเละมยุราช ทั้งยังมีบุตรสาว ชื่อ มีนากษี

          ตามตำนานทางพระพุทธศาสนา กล่าวไว้ว่า อดีตชาติของท้าวกุเวรนั้น เป็นพราหมณ์นามว่ากุเวร เป็นคนใจดีมีเมตตากรุณา ทำไร่อ้อย ค้าขายหีบอ้อยจนร่ำรวย และด้วยความใจบุญนั้น จึงได้บริจาคเงินและน้ำอ้อยให้ผู้ยากไร้ จนตลอดอายุขัย ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่บริจาคน้ำอ้อยให้เป็นทานนั้น ทำให้กุเวรได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีนามว่า "กุเวรเทพบุตร" ต่อมากุเวรเทพบุตร ได้เป็นผู้ปกครองดูแลพระนครด้านทิศเหนือ จึงได้มีพระนามว่า "ท้าวเวสสุวัณ" คำว่า เวส แปลว่า พ่อค้า หมายถึงพ่อค้าอันมีทรัพย์มาก
     
          ตามตำนานกล่าวในมหากาพย์รามายณะไว้ว่า "ท้าวกุเวร" หรือ เวสสุวัณ ครองกรุงลงกา เป็นโอรสของพระวิศรวิสุมนี กับนางอิทาวิทา ซึ่งท้าวกุเวร ใฝ่ใจกับท้าวมหาพรหม เป็นเหตุทำให้บิดาโกรธเพราะถือทิฐิว่าตนเป็นยักษ์ เป็นเทวดาต่ำศักดิ์กว่า ไม่ควรไปยุ่งกับเทวดาที่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า เมื่อเห็นคนอื่นดีกว่า พ่อจึงแบ่งภาคเป็นท้าวลัสเตียนแต่งงานกับนางนิกษา แล้วมีบุตรด้วยกันคือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และนางสำมะนักขา ท้าวกุเวรนั้น ต้องการบำเพ็ญตบะบารมี ด้วยการเข้าฌานและบำเพ็ญทุกรกิริยานานนับพันปี นางนิกษาด้วยความอิจฉา ได้ยุยงให้ทศกัณฐ์ชิงกรุงลงกามาจากท้าวกุเวร ทั้งยังชิงเอาบุษบกที่พระพรหมได้ประทานแก่ท้าวกุเวรมาด้วย เมื่อท้าวกุเวรต้องเสียกรุงลงกาไปแล้ว ท้าวมหาพรหมท่านก็สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ อลกาหรือ ประภาตั้งอยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ เจตรรถอยู่บนเขามันทรคีรี อันเป็นกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บ้างก็ว่าท้าวกุเวรอยู่ที่เขาไกรลาส ซึ่งพระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างให้
          เดิมที ท้าวกุเวรเป็นเทพบุตรที่อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติในราชธานีชื่อวิสาณะ ตั้งแต่นั้นจึงเรียกว่าท้าวเวสสุวัณ ดังนั้น เวสสุวัณเป็นชื่อตำแหน่งในการดูแลสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา 
         
           

          ในพระนามของท้าวเวสสุวัณ ท้าวกุเวร และท้าวไพศรพณ์มีบทบาทหน้าที่และความสำคัญ
3 ด้าน ทั้งในความเชื่อของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนั้น อันได้แก่ 
(1) บทบาทในการเป็นผู้คุ้มครองดูแลศาสนา ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ คือการดูแลศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการปกป้องผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไม่ให้ถูกอมมนุษย์รบกวน
(2) บทบาทในการเป็นจตุโลกบาล คือการเป็นผู้ดูแลรักษาโลกในด้านทิศเหนือ
(3) บทบาทในการเป็นผู้สั่งสอนและช่วยเหลือ คือการสั่งสอนด้วยการเป็นแบบอย่างของผู้ที่ตั้งมั่นในการบำเพ็ญบารมี
          ตามรามายณะ บรรยายว่า ครั้งที่ท้าวกุเวรเป็นมนุษย์ ได้บำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นโลกบาล แสดงให้เห็นถึงบทบาทของท้าวกุเวรครั้งเป็นกุเวรพราหมณ์ในการเป็นผู้สั่งสอนและช่วยเหลือ
ด้วยการเป็นแบบอย่างของผู้บำเพ็ญทานบารมี จึงได้ไปเกิดเป็นกุเวรเทพบุตรในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา อันแสดงถึงบทบาทของท้าวกุเวรในการเป็นจตุโลกบาลอีกด้วย



ที่มา : https://bit.ly/2kWLLQY


งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับท้าวกุเวร 
          
ตามความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อน นิยมบูชาผ้ายันต์ท้าวเวสสุวัณ เพื่อคุ้มครองจากอันตรายต่างๆ

ที่มา : https://bit.ly/2kZcKLI


หัวโขนกายสีขาว สวมมุงกุฏยอดน้ำเต้า ถือศรเป็นอาวุธ

ที่มา : https://bit.ly/2kMYBS5


สัญลักษณ์สำนักงานอัยการ

ที่มา : https://bit.ly/2mmn4Oe


ตราประจำจังหวัดอุดรธานี
เป็นรูปท้าวกุเวร ซึ่งหมายถึงเทพยดาผู้คุ้มครองรักษาประจำทิศอุดร ยืนถือกระบองเฝ้ารักษาเมือง

กรมศิลปากร ออกแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483


ที่มา : https://bit.ly/2mvlwBT


พระเศรษฐีชัมภล หรือพระธนบดี หรือท้าวกุเวร
พิมพ์ต่างๆ ในสมัยโบราณ ซึ่งมีสร้างทั้งศรีวิชัยและทวารวดี ลักษณะพุงที่ใหญ่ของท่านนั้น แสดงถึงลักษณะของเทพแห่งทรัพย์



เทวรูปท้าวกุเวรสำริด ในศิลปะชวาภาคกลาง ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ที่อินโดนีเซีย ลักษณะพุงที่ใหญ่ของท่านนั้น แสดงถึงลักษณะของเทพแห่งทรัพย์

ที่มา : https://www.sac.or.th/

          คติความคิดเรื่องท้าวกุเวร ทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู ทำให้เห็นว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี จึงได้รับพรให้เป็นจตุโลกบาล ท่านจึงเป็นแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญบารมีประกอบกับความเป็นเทพเจ้าแห่งทรัพย์นั้น คำว่า "ทรัพย์" นั้น มิได้หมายถึงทรัพย์สินเงินทอง หากแต่ในทางพุทธศาสนาคือการสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในอริยทรัพย์มุ่งบำเพ็ญเพียรสู่ความหลุดพ้น ในทางฮินดูความเป็นเทพแห่งทรัพย์ที่ไม่ยั่งยืนได้สะท้อนให้เห็นแบบอย่างของการตั้งมั่นสู่ปรมาตมัน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์อีกต่อไป

ที่มา : https://bit.ly/2kN2wyf
'ท้าวเวสสุวัณ'
หนึ่งในประติมากรรมจตุโลกบาลประดับพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2560)


          



อ้างอิง

          ปริวัตร ศิระเกียรติสกุล และอรอุษา สุวรรณประเทศ. 2560. ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู. วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 (2560): 121-136. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. จาก
http://www.human.nu.ac.th/

          เสาวลักษณ์ แสงสุวรรณ. (2017).  เปิดตำนาน!! "พระไพศรพณ์" เทวดาผู้พิทักษ์กฏหมายและความยุติธรรมบนสวรรค์ สู่ สัญลักษณ์เครื่องหมายราชการของอัยการ !!! (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. จาก

          Author. (2014). เรื่องราวของท้าวกุเวร (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 19 กันยายน 2562. จาก

          Chetsada Raksapskdee. (2561). ท้าวกุเวร อธิบดีแห่งจตุโลกบาล เบื้องทิศอุดร (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 21 กันยายน 2562. จาก



          
       

Comments