Chapter 1 The Art of Champa : MY SON SANCTUARY


Chapter 1 
ศิลปกรรมในอาณาจักรจาม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หมีเซิน (MY SON SANCTUARY)

          สวัสดีค่ะผู้อ่านที่น่ารักทุกๆท่าน เนื่องจากคราวที่แล้วได้มีการแนะนำตัวผู้เขียนและเรื่องราวที่จะเขียนขึ้นภายในบล็อกนี้ คราวนี้ถึงเวลามาทำความรู้จักกับสิ่งมหัศจรรย์ที่น่าสนใจของเวียดนามกันแล้วค่ะ


          
          บทความแรกนี้ เราจะย้อนรอยอดีตไปที่โบราณสถานศิลปะจามโบราณในสมัยศตวรรษที่ 4 นั่นคือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หมีเซินหรือที่รู้กันในอีกสมญานามว่า หุบเขาศักดิ์สิทธิ์หมีเซิน

          ปราสาทหมีเซินเคยเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ แห่งอาณาจักรจาม หรือ จามปา ที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าภัทรวรมันที่ 1 ในศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 15 โดยได้ถูกใช้ให้เป็นศาสนสถานตามความเชื่อของศาสนาฮินดูในการทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้บันดาลพรและคุ้มครองราชวงศ์จาม รวมถึงเป็นสถานที่ฝังพระศพของกษัตริย์ ในยุครุ่งเรืองอาณาจักรจามครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่พื้นที่ทางตอนใต้ของฮานอย ไปถึงเวียดนามใต้ และตะวันออกของกัมพูชา ราชวงศ์ที่ครองราชย์มีด้วยกัน 14 ราชวงศ์ 78 พระองค์ ก่อนที่จะล่มสลายในช่วงศตวรรษที่ 15 ปราสาทตั้งอยู่บริเวณหุบเขาสูง ที่ราบต่ำ ล้อมรอบด้วยภูเขาในเขตจังหวัดกว๋างนาม (Quang Nam) จังหวัดทางภาคกลางของประเทศเวียดนาม อยู่ระหว่างเมืองฮานอยและดานัง โดยอยู่ห่างจากฮานอยประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากดานังประมาณ 70 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร

          โดยคำว่า หมีเซิน (My Son) มีความหมายว่า ภูเขาอันสวยงาม ศาสนสถานประกอบด้วยปราสาททั้งหมด 73 หลัง นอกจากตัวปราสาทแล้ว ยังมีพวกรูปปั้น วัด และถูกห้อมล้อมไปด้วยป่าดงดิบ แต่ในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารเวียดนามได้ใช้ปราสาทหมีเซินเป็นกองบัญชาการ ฝ่ายอเมริกันจึงได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดบริเวณนี้ ทำให้โบราณสถานจำนวนมากถูกทำลายไป ปัจจุบันจึงเหลือปราสาทเพียง 22 หลัง ถึงแม้ว่าโบราณสถานจำนวนมากจะถูกทำลายลงไป แต่โบราณสถานที่เหลืออยู่นั้น ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 900 ปี ทำให้โบราณสถานแห่งนี้ก็ยังเป็นที่รวบรวมลักษณะทางด้านศิลปกรรมที่หลากหลาย จัดเป็นโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมแบบฮินดูที่สมบูรณ์ และเก่าแก่ที่สุดในอินโดจีนอีกด้วยค่ะ

          โบราณสถานหมีเซิน ได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 23 เมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก

          
          
          ก่อนที่จะเข้าไปภายในศาสนสถาน เรามาทำความรู้จักกับคำว่า จาม หรือ จามปากันก่อนนะคะ
จาม หรือ จามปา เป็นคนในกลุ่มมาลาโย - โพลีนีเชียน (เป็นคนละกลุ่มกับชาวเวียด) และเป็นอาณาจักรที่รับวัฒนธรรมจากอินเดียซะส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากกลุ่มเวียดที่รับวัฒนธรรมมาจากจีนเป็นหลัก หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับจาม พบในเอกสารจีน ประมาณพุทธศตวรรธที่ 8 - 9 ซึ่งจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า หลินอี้ ส่วนคำว่า จามปา ถูกค้นพบในจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ในช่วงพุทธศตวรรธที่ 12 - 13 ว่า พระเจ้าภัทรวรมันที่ 1 ได้สถาปนาศิวลิงค์ภัทเรศวร ไว้ที่นี่
          
ที่มา : https://1th.me/SnXk

          ร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของหมีเซิน ยังคงหลงเหลือให้ผู้มาเยือนได้เห็นอยู่โดยรอบ หากเดินไปตามทาง จะสามารถพบเห็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางสถาปัตยกรรมจากการก่อสร้างโดยใช้อิฐแบบโบราณ มีการแกะสลักนิทานพื้นบ้านของศาสนาฮินดูบนป้ายหินทราย และรูปสลักบนกำแพงอิฐ แสดงให้เห็นถึงศิลปะที่ประณีตสวยงามของชาวจาม การสร้างอาคารใช้ซุ้มประดับ และใช้เสาประดับผนัง ศิลปะของจามคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของขอม ชวา และอินเดีย แต่นำมาประยุกต์จนมีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง รวมถึงสามารถพบเห็นศิวลึงค์ หน้าบันรูปพระศิวะ แท่นบูชาตามความเชื่อของศาสนา และหินแกะสลักเทพต่างๆ เป็นต้นค่ะ




       
          ภายในโบราณสถานหมีเซินจะมีการแบ่งศาสนสถานออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ทั้งหมด 9 กลุ่ม ซึ่งนายปาร์มองติเยร์ ได้ตั้งชื่อแต่ละกลุ่มด้วยตัวอักษร ได้แก่ A, A', B, C, D, E, F, G และ H โดยกลุ่มแรกที่จะพบ (หากเดินตามป้าย) นั่นก็คือ โบราณสถานกลุ่ม E และ F

          โดยกลุ่มแรกที่พบ (ตามป้าย) คือโบราณสถานกลุ่ม E และ F ค่ะ
          
          ปราสาทหมีเซิน F เป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานที่หมีเซิน ลวดลายที่ประดับปราสาทมีความคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและขอมสมัยก่อนเมืองพระนครมากๆ ทำให้สามารถกำหนดอายุได้ว่าอาจมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13
          ปราสาทหลังนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มปราสาทที่อุทิศให้กับศิวลึงค์ภัทเรศวร ที่เป็นศิวลึงค์ประจำอาณาจักรจามปา 

โบราณสถานกลุ่ม F
ที่มา : https://1th.me/e1ue


          ใกล้ๆกันนั้น จะเป็นปราสาทกลุ่ม E จากจารึกทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าวิกรานตวรมัน (ประมาณ พ.ศ. 1201) เพื่อถวายแด่พระอิศวร ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในหมีเซินนั่นเองค่ะ
โบราณสถานกลุ่ม E
ที่มา : https://1th.me/DFg9

          หากเดินถัดไปอีกหน่อยนึง ก็จะเจอกับปราสาทกลุ่ม G ค่ะ
          ปราสาทกลุ่ม G น่าจะถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรธที่ 17 สร้างขึ้นโดยพระเจ้าชญาหริวรมัน เพื่ออุทิศแด่พระศิวลิงค์นามว่า หริวรเมศวร ค่ะ

โบราณสถานกลุ่ม G
ที่มา : https://1th.me/a9uq

          เดินต่อขึ้นไปอีกนิด จะพบปราสาทกลุ่ม A ปราสาทกลุ่มนี้ น่าจะถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรธที่ 15 แรกเริ่มนั้นประกอบไปด้วยปราสาทถึง 13 หลัง แต่เหลือรอดเพียงแค่ชิ้นส่วนกับส่วนฐาน ก่อนจะถูกทำลายอย่างหนักด้วยระเบิด B-52 ของสหรัฐในสงครามเวียดนาม ในปราสาทประธาน A1 เป็นที่ตั้งของฐานโยนีและศิวลึงค์ มีปราสาทเล็กๆล้อมรอบ 6 ปราสาท และเทวรูปประจำทิศทั้ง 8 ทิศ

โบราณสถานกลุ่ม A
ที่มา : https://1th.me/Yi1h

          เมื่อเดินข้ามมาอีกฝั่ง จะพบกับกลุ่มปราสาทที่ใหญ่ที่สุดของหมีเซิน นั่นก็คือ กลุ่ม B, C และ D

          ปราสาทกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ภัทเรศวร ซึ่งเป็นศิวลึงค์ประจำอาณาจักรจามปา ถูกสร้างในสมัยราวพุทธศตววรธที่ 15 ภายในจะพบศิวลึงค์ และประติมากรรมศาสนาฮินดูมากมาย โดยปราสาทกลุ่ม B และ C นั้นเป็นตัวอย่างของการจัดวางผังปราสาทแบบอาณาจักรจามปา โดยมีปราสาทประธาน มีกำแพงล้อมรอบ โดยมีปราสาทกลุ่ม D เป็นมณฑปซึ่งตั้งอยู่ภายนอกกำแพงนั่นเองค่ะ
      
โบราณสถาน B
ที่มา : https://1th.me/0YoL

          ปราสาท B1 เป็นปราสาทเพียงหลังเดียวในศิลปะจามที่สร้างขึ้นด้วยหินทั้งหลัง เนื่องจากโดยปกติแล้ว ศิลปะจามมักจะสร้างปราสาทด้วยอิฐเสมอ ฐานของปราสาทแห่งนี้ยังคงหลงเหลือลวดบัวซึ่งประดับด้วยปราสาทจำลอง

โบราณสถาน B1
ที่มา : https://1th.me/2zv5

          ปราสาท B5 เป็นปราสาทในกลุ่ม B เพียงหลังเดียวที่ยังมียอดครบสมบูรณ์ มีเสาติดผนังจำนวน 5 ต้น โดยสามารถมองเห็นได้เพียงสี่ต้น เนื่องจากเสาต้นกลางถูกซุ้มบดบัง


โบราณสถาน B5
ที่มา : https://1th.me/TKOu

          ปราสาท C15 เป็นปราสาทประธานของปราสาทกลุ่ม C และเป็นปราสาทประธานเพียงหลังเดียวที่มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีหลังคาเป็นทรงประทุน (เรียกว่าทรงศาลาในศิลปะอินเดียใต้)
   
โบราณสถาน C
ที่มา : https://1th.me/uMNA

          ปราสาท D มีสองหลังที่สำคัญค่ะ นั่นคือปราสาท D1 และปราสาท D2 ทั้งสองหลังเป็นมณฑปภายนอกกำแพงของปราสาทกลุ่ม B และ C มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ด้านบนสร้างขึ้นด้วยหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ซึ่งไม่หลงเหลือให้เราได้เห็นแล้วในปัจจุบัน ด้านข้างประดับด้วยเสาติดผนัง ซุ้มประติมากรรมสลับกับหน้าต่างที่ประดับด้วยลูกมะหวด

โบราณสถาน D
ที่มา : https://1th.me/h6q6


          และปราสาทในกลุ่มสุดท้าย นั่นก็คือปราสาทกลุ่ม H ค่ะ จุดที่น่าสนใจของปราสาทกลุ่มนี้คือ มีหน้าบันที่ทำมาจากหินทรายขนาดใหญ่เป็นรูปศิวนาฏราช
       
โบราณสถานกลุ่ม H
ที่มา : https://1th.me/ECx0
.
.
.
.
.
.
          ศิลปกรรมในอาณาจักรจามโบราณ ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูอย่าง "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หมีเซิน" นั้นมีความน่าสนใจมากเลยใช่ไหมคะ ถึงแม้ว่าร่องรอยของโบราณสถานแห่งนี้เหลืออยู่เพียงไม่มาก แต่ให้คุณค่ากับผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สามารถอธิบายวิถีชีวิตของชาวจามในสมัยโบราณ ทั้งด้านความเชื่อ ศาสนา ชีวิตความเป็นอยู่ และจุดประสงค์ของการสร้างโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นมา ได้อย่างดีเลยค่ะ หากมาเที่ยวดานัง ประเทศเวียดนาม "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หมีเซิน" จึงเป็นตัวเลือกที่ดีของการมาเที่ยวชมโบราณสถานในดานังเลยค่ะ วันนี้ผู้เขียนบล็อกต้องขอตัวลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ :) 



อ้างอิง
       เชษฐ์ ติงสัญชลี. (ม.ป.ป.). ศิลปะจามปา (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2562. จาก
       อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. (ม.ป.ป.). ปราสาทมิเซิน (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2562. จาก 
          AEC10NEWS. (2560). "หมีเซิน" เมืองมรดกโลก (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2562. จาก
       Sutthirak Sangchan. (2018). เที่ยวเวียดนาม ตอนที่ 2 : เจาะเวลาหาอาณาจักรจามปาที่หมีเซิน (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2562. จาก








Comments